การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเเรียนการสอน เรื่อง“การประเมินผลการเรียนการสอน แบบ Rubric”

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 – 12.00 น.ณ ห้องประชุมคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคมอาคารเรียนรวม ชั้น 3 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

ผู้เข้าร่วมการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. ผศ.ดร. อารีนา เลิศแสนพร
  2. ผศ.ดร. พรรณปพร ลีวิโรจน์
  3. อ.สมศักดิ์ นัคลาจารย์
  4. อ.ดร.ศิริพร เกื้อกูลนุรักษ์
  5. อ.ดร.น้ำผึ้ง มีศิล
  6. อ.ดร.พัชรินทร์ บูรณะกร

ความเป็นมา
สืบเนื่องจากการประชุมคณะฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ได้มีการทบทวนแผนปฏิบัติการคณะฯ และมีมติให้มีการจัดการความรู้ด้านการเรียนการสอนเรื่อง การประเมินผลแบบ Rubric เนื่องจากคณาจารย์ในคณะฯบางส่วน ได้รับความรู้จากการอบรมเรื่องการประเมินผลการเรียนการสอนแบบ Rubric ซึ่งจัดโดยสำนักพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่ได้นำมาปรับใช้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษา ข้อ 4.4 กำหนดให้หลักสูตรต้องมีการประเมินผลการเรียนการสอนแบบ Rubric/marking schemes ด้วย จึงเป็นที่มาที่จะทบทวนในเรื่องดังกล่าว และพบว่า ในรายวิชาการฝึกภาคปฏิบัติ และรายวิชาการทำวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์ของระดับบัณฑิตศึกษา มีการประเมินผลการเรียนการสอนที่สามารถนำมาพัฒนาและปรับเป็นการประเมินผลแบบ Rubric ได้ จึงได้มีการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเรียนเชิญ อ.ดร.พัชรินทร์ บูรณะกร ซึ่งมาให้ความรู้เรื่องการเขียนรายงานการปฏิบัติงานแบบ AUNQA version 4.0 และเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประเด็นการประเมินผลแบบ Rubric ร่วมกัน

เกณฑ์การประเมิน (Rubric Assessment)
ความหมาย คำว่า “ Rubric” หมายถึงกฎ หรือกติกา (Rule ) ส่วนคำว่า Rubric Assessment หมายถึงแนวทางการให้คะแนนซึ่งสามารถแยกแยะระดับต่างๆของความสำเร็จในการเรียน หรือการปฏิบัติของผู้เรียนได้อย่างชัดเจน

เกณฑ์การให้คะแนน (Scoring Rubrics) คือเกณฑ์การให้คะแนนที่ถูกพัฒนาโดยผู้ประเมินที่ใช้วิเคราะห์ผลงานหรือกระบวนการที่ผู้เรียนได้พยายามสร้างขึ้น การประเมินผลงานของผู้เรียนจะมี 2 ลักษณะคือ ผลงานที่ได้จากกระบวนการ และกระบวนการที่ผู้เรียนใช้เพื่อให้เกิดผลงาน จะประเมินในลักษณะใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ อาจจะประเมินลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือประเมินทั้งสองลักษณะก็ได้ ผู้ประเมินจะต้องตัดสินคุณภาพของผลงานหรือกระบวนการปฏิบัติงานของผู้เรียนแต่ละคนที่มีระดับที่แตกต่างกันหลายระดับ ระดับที่แตกต่างกันอาจจะเป็นระดับคุณภาพของชิ้นงานที่ได้สร้างขึ้น หรือระดับของกระบวนการต่าง ๆ ที่ผู้เรียนแต่ละคนได้ใช้เพื่อให้เกิดผลงานเพื่อให้การตัดสินใจสอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคน ผู้ประเมินจะต้องใช้เกณฑ์ในการประเมินคุณภาพชิ้นงานของผู้เรียน เกณฑ์อาจจะอยู่ในเชิงคุณภาพหรือปริมาณ อาจจะมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) หรือแบบตรวจสอบ (Checklist)

โดยปกติจะใช้ Rubric ในการประเมินจุดประสงค์การเรียนรู้เดียวหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของงานปฏิบัติ แต่การปฏิบัติงานที่มีซับซ้อน ผู้ประเมินจะต้องประเมินจุดประสงค์การเรียนรู้ที่หลากหลายและประเมินหลาย ๆ ส่วนของการปฏิบัติ นั่นคือผู้ประเมินจะต้องมีเกณฑ์การให้คะแนนที่มากมายเพื่อให้เหมาะกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน หรือเหมาะกับแต่ละส่วนของการปฏิบัติงาน การให้คะแนนจะอยู่ในรูปของตัวเลข โดยปกติจะเป็น 0-3 หรือ 1-4 ในแต่ละระดับของคะแนนจะขึ้นอยู่กับระดับของคุณภาพของงาน ดังนั้นตัวเลข 4 อาจจะหมายถึงระดับคุณภาพสูงสุด เลข 3 เป็นระดับคุณภาพรองลงมา คุณภาพของงานในแต่ละระดับจะต้องใช้การอธิบาย (Rubric) ดังนั้นในแต่ละระดับคะแนนจะต้องอธิบายเป็นภาษาที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของการปฏิบัติงานในระดับนั้น (ฉัตรศิริ ปืยะพิมลสิทธิ์ 2544)

การกำหนดเกณฑ์การประเมิน
ผู้ประเมินและผู้เรียนควรจะกำหนดเกณฑ์การประเมินด้วยกัน ซึ่งควรจะทำให้เสร็จก่อนที่ผู้เรียนจะลงมือปฏิบัติงานชิ้นนั้น เกณฑ์การประเมินนั้น นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสอนอีกด้วย เพราะเกณฑ์การประเมินนั้น เปรียบเสมือนเป้าหมายในการเรียนที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ และทำให้ผู้ประเมิน รู้ว่าผู้เรียนทำอะไรได้บ้าง และรู้อะไรบ้าง

ประโยชน์ของการกำหนดเกณฑ์การประเมิน

  1. มีความชัดเจนในการประเมิน
  2. ทำให้รู้ว่าผู้เรียนเรียนรู้และทำอะไรได้บ้าง
  3. กระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ตามเป้าหมาย

ตัวอย่างเกณฑ์การประเมินแบบแยกองค์ประกอบ


เนื้อหา
ระดับ 1 สอดคล้องกับนื้อเรื่อง
2 ลำดับเนื้อเรื่องชัดเจน
3 เรื่องน่าสนใจ
4 มีจินตนาการ
การใช้ภาษา
ระดับ 1 ผิดพลาดมากสื่อความหมายได้
2 ถูกต้องส่วนมากและสื่อความหมายได้
3 ผิดพลาดน้อย เชื่อมโยงภาษาได้ดี
4 ถูกต้องเกือบทั้งหมด สละสลวยงดงาม

การประยุกต์ใช้ Rubric ในรายวิชา
อ.ดร.พัชรินทร์ บูรณะกร เป็นประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ได้นำแบบฟอร์ม บฑ.2/1 แบบประเมินผลการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์ ซึ่ง รศ.ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม ได้พัฒนาขึ้นไว้ก่อน เพื่อนำมาปรับให้เป็นเกณฑ์การให้คะแนนแบบ Scoring Rubrics ซึ่งมีคำอธิบายเกณฑ์การให้คะแนนในการประเมินคุณภาพของเค้าโครงวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของคณะฯ ได้นำแบบฟอร์มมาปรับใช้กับหลักสูตรทั้งระดับปริญญาโทและเอกของคณะ ทำให้การวัดผลการประเมินมีความชัดเจน แสดงให้เห็นว่าผู้ประเมิน 4-5 คน สามารถใช้ Rubric เดียวกันประเมินการสอบวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์ของผู้เรียน มีระดับความสอดคล้องกันที่เรียกว่า มีความเชื่อมั้นของการประเมินมากขึ้น สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี อยู่ระหว่างการนำไปปรับเกณฑ์ในรายวิชาการฝึกภาคปฏิบัติของหลักสูตร และคาดว่าจะนำไปใช้ในปีการศึกษา 2566

คำจำกัดความของการประเมินผลการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์
ผ่าน หมายถึง นักศึกษาสามารถนำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์และตอบข้อซักถามได้เป็นที่น่าพอใจของคณะกรรมการ
สอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ไม่ต้องมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมสาระสำคัญ ผ่านโดยมีเงื่อนไข หมายถึง นักศึกษายังไม่สามารถนำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์และตอบข้อซักถามให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ได้อย่างสมบูรณ์ คณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์มีความเห็นว่า สมควรให้มีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมสาระสำคัญ และ/หรือวิธีการเรียบเรียงโครงร่างวิทยานิพนธ์ตามที่คณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์เสนอแนะไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในแบบประเมินการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธื และประธานกรรมการบริหารหลักสูตรเป็นผู้ตรวจสอบการแก้ไขโดยไม่ต้องมีการจัดสอบใหม่

ไม่ผ่าน หมายถึง นักศึกษาไม่สามารถนำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ และ/หรือไม่สามารถตอบข้อซักถามของคณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ได้ ซึ่งเป็นการแสดงว่าฯํกศึกษาผู้นั้นไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสาระของโครงร่างวิทยานิพนธ์ และ/หรือวิธีการวิจัยที่นักศึกษาวางแผนไว้กรณีนักศึกษาสอบไม่ผ่านนี้ ให้คณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์แจ้งให้นักศึกษาจัดทำโครงร่างวิทยานิพนธ์ตามคำแนะนำภายในระยะเวลาที่กำหนดให้และนักศึกษาต้องขอสอบแก้ตัวต่อคณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์อีกครั้ง เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยการสอบแก้ตัว ต้องสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ภาคการศึกษาปกติถัดไปนับจากการสอบครั้งแรก

Loading